แบ่งปันประสบการณ์เขียนบลอคพร้อมข้อคิดประจำเดือน มิถุนายน 2559

Nuttavut Thongjor

จากที่เป็นมือใหม่หัดเขียนมาสองเดือน แอดมินขอสรุปแบบ Noobๆให้เพื่อนๆฟังครับ ไม่รับประกันว่าถูกต้องนะครับ แอดมินยังเป็น Novice เลเวล1อยู่~ ตีปอริ่งยังไม่ตายเลย (บอกอายุมาก - -")

แอดมินขอแชร์ประสบการณ์โดยแบ่งออกเป็นสองหัวข้อนะครับคือ เรื่องบทความและเรื่องของเฟซบุคเพจ

บทความแบบไหนที่คนชอบ?

แอดมินส่อง Google Analytics ดูพบว่าบทความขนาดยาวเป็นกิโล คนอ่านมักใช้เวลาอยู่หน้านี้น้อยมาก แต่เขาไม่ออกจากเว็บทันที กลับไปดูบทความที่หน้าอื่นแทน

บทความสั้นคนมักอ่านจนจบ แอดมินประเมินเวลาด้วยตนเองครับว่าน่าจะอ่านที่กี่นาที แล้วนำไปเทียบกับที่ Analytics รายงาน ที่น่าสนใจคือบทความที่ใช้ไม่ได้จริง เช่น 7 เครื่องหมายใน JavaScript ที่จะช่วยให้คุณเขียนโค๊ดสั้นขึ้น คนมักออกจากไซต์ทันทีโดยไม่ไปต่อที่หน้าอื่นเลย แอดมินเสียใจจุง ฮือ

มีเพื่อนๆหลายคนหลังไมค์มาบอกแอดมินว่าสนใจ React แต่บทความยาวไป อ่านทีไรแกะลอยมาหลับทุกที อันนี้เป็นความผิดพลาดเลยหละ ตอนนั้นแอดมินคิดแค่ว่าถ้าจะทำบทความชุด แบ่งเป็นบทความย่อยน้อยๆน่าจะดี แอดมินเลยจัดการสับบทความเป็นแค่5ส่วน ทั้งๆที่มันแยกออกมาได้ซัก50บทความเลยมั้ง (เว่อร์จริง)

แอดมินก็คิดเช่นกันว่ามันยาว เขียนทีไรนี่ปวดตับมาก อยากจะลาไปเฝ้าเง็กเซียนสุดๆ เชื่อไหมมันน่าแปลกมาก ทั้งๆที่ต่างบ่นกันว่ายาว แต่กลับเป็นบทความที่คนเข้าอ่านทุกวัน ติดอันดับต้นๆของบทความทั้งหมด อีกทั้งเป็นบทความที่เมื่อคนอ่านแล้วจะอ่านบทความอื่นในเว็บต่อด้วย แอดมินนี่ฟินไปถึงดาวอังคารเลยละฮะ

ชุดบทความยาวๆแบบ React Redux Isomorphic ทำให้แอดมินรู้อย่างนึงว่ามีหลายคนไม่ได้แค่อ่าน แต่มันจะทำตามไปด้วย ทำให้แอดมินรู้ตัวว่าคิดถูกที่แปะโค๊ดใน Github เอาไว้

เอาหละถึงเวลาสรุปแล้วว่าเราได้อะไรจากเรื่องนี้กันบ้าง ต้องขออภัยไว้ก่อนเลยครับ เพราะนี่คือการสรุปแบบมือใหม่หัดเขียนบลอคเลย ไม่อิงทฤษฎีใดๆทั้งสิ้น

  • ผู้อ่านมักให้ความสนใจกับบทความสั้นมากกว่า
  • ถ้าผู้อ่านรู้สึกว่าบทความประยุกต์ใช้ได้จริง เขาจะสนใจอ่านบทความอื่นต่อ
  • ผู้อ่านจะให้ความสนใจพิเศษกับบทความที่ตนต้องการอ่านแม้จะยาวมากก็ตาม
  • บทความชุดควรแบ่งเป็นบทความย่อยขนาดสั้น ใส่โค๊ดฉบับเต็มด้วยทุกครั้งเช่นแปะโค๊ดลง Github
  • เวลาเฉลี่ยที่เหมาะสมต่อหนึ่งบทความไม่ควรเกิน 5 นาที

กระแสของยอดไลค์และแชร์เพจมาจากไหน?

แอดมินนิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ชอบเผือกดูเวลาคนกดไลค์กดแชร์ จากการสอดส่องเรื่องชาวบ้านอย่างต่อเนื่องทำให้แอดมินได้ข้อสรุปว่า

  • คนแชร์บทความมักไม่กดไลค์ (บทกลับไม่เป็นจริง)
  • แอดมินแชร์โพสต์ลงกรุ๊ปที่เกี่ยวข้องได้ยอดไลค์เพจกลับมาส่วนหนึ่ง แต่ไม่เท่าเซเลบวงการไอทีแชร์ลงเพจส่วนตัวหรือไทม์ไลน์ของเขา
  • การโพสต์บทความหนึ่งบทลงหลายๆกรุ๊ปพร้อมกันนั้นไม่ดี เพราะคนส่วนใหญ่จะอยู่ในหลายกรุ๊ปอยู่แล้ว โพสต์ในเวลาเดียวกันจึงไม่ทำให้เพิ่มยอดคนเห็นเท่าที่คาด
  • แอดมินจึงใช้อีกวิธีคือโพสต์แยกวัน วันแรกโพสต์กรุ๊ปนึง พรุ่งนี้ค่อยไปโพสต์ใหม่อีกกรุ๊ปนึง
  • แอดมินสังเกตเห็นอะไรแปลกๆอีกอัน แต่ไม่แน่ใจว่ามันเกี่ยวกันไหม ถ้าคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวแอดมินเองเป็นคนโพสต์บทความลงกรุ๊ป บทความนั้นจะได้ยอดไลค์มากกว่าแอดมินเป็นคนโพสต์เอง
  • คนกดถูกใจเพจจาก facebook plugin บทหน้าเว็บนั้นน้อยมากจนแอดมินคิดว่าจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทั้งนี้แอดมินก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะยอดวิวที่มาจาก Google เองก็ยังน้อยอยู่

ทั้งหมดนี้แอดมินจึงสรุปได้ว่ายอดไลค์เพจได้มาจากแหล่งเหล่านี้ เรียงตามลำดับจากการได้มาที่มากสุดสู่น้อยสุด

เซเลบแชร์บทความ > โพสต์ลงกรุ๊ป > เพื่อนๆในเพจแชร์ในไทม์ไลน์

บทสรุป

เพื่อนๆคนไหนที่เขียนบทความแล้วไม่ได้ใช้ Analytics ดีๆซักตัวถือว่าเป็นกรรมหนักมากนะฮะ แอดมินนี่งงเลยทำไมคนส่วนใหญ่มักกลับไปที่หน้าโฮม (/) แทนที่จะเป็นหน้า /blog แอดมินจึงทอดสายตาไปตามเส้นทางการเข้าถึง ดวงตาเห็นธรรมบังเกิดเมื่อพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนใช้มือถือซะส่วนมากที่แทบไม่ไป /blog เลย

หลังจากแอดมินส่องดูในมือถือตนเอง... JavaScript มันไม่ทำงานบน In-App Facebook Browser อะ แต่ที่ทำให้แอดมินโล่งใจคือผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังเข้าผ่าน Chrome ซึ่งแอดมินทดสอบแล้วไม่มีปัญหา สบายไปสามโลก เหตุนี้แอดมินจึงยังไม่คิดแก้อะไรช่วงนี้ครับ (อีกอย่างยังไม่มีใครบ่นว่าอ่านบทความไม่ได้ด้วยหละ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเมื่อไหร่นี่...)

สารบัญ

สารบัญ

  • บทความแบบไหนที่คนชอบ?
  • กระแสของยอดไลค์และแชร์เพจมาจากไหน?
  • บทสรุป